ประวัติพระอาจารย์รัตน์ รตนญาโณ

ประวัติพระอาจารย์รัตน์ รตนญาโณ

1

อาจารย์รัตน์ รตนญาโณ

สำนักปฏิบัติธรรมรัตนประทีป วัดดอยเกิ้ง

อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ชาติ กำเนิด

พระอาจารย์รัตน์ รตนญาโณ เกิดเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2591 ในสกุล “ฝั้นเต่ย” ที่บ้านแม่สะเรียง ตำบลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โยมบิดาของท่านชื่อ นายผัด โยมมารดาชื่อ นางใส มีอาชีพทำนา ฐานะครอบครัวอยู่ในระดับปานกลาง ท่านเป็นลูกคนที่ 7 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 9 คน เป็นชาย 5 คน และหญิง 4 คน ตัวท่านเองมีพี่ชายสามคน พี่สาวสามคน กับน้องชายและน้องสาวอีกสองคน

การศึกษาและการอาชีพ

ในวัยเยาว์ท่านเริ่มต้นการเรียนชั้นประถมศึกษาปีที 1-4 ที่โรงเรียนบ้านจอมแจ้งในตัวอำเภอแม่สะเรียง แล้วจังไปเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนแม่สะเรียงบริพัตรศึกษา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนเดิมนัก ผลการเรียนของท่านอยู่ในลำดับที่ 1-3 ของทุกชั้น อุปนิสัยเมื่อยังเป็นเด็กนั้น โยมอุปัฏฐากสูงอายุของท่านผู้เริ่มก่อตั้งวัดดอยเกิ้งเล่าว่า ท่านเป็นเด็กที่รักสันโดษ จนถึงกับเคยไปปลูกเพิงเล็กๆ อยู่ท้ายบ้านคนเดียวในยามว่าง เมื่อจบ ม.ศ. 3 อายุของท่านยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะรับราชการได้ จึงไปอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นเวลา 1 ปี แล้วกลับมาสอบเข้ารับราชการเป็นครู ม.6 ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ท่านเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 18 ปีเศษ เมื่อ พ.ศ. 2510 ในตำแหน่งครูประจำชั้น ป.1 ที่โรงเรียนแม่ลาศึกษา ในตัวอำเภอแม่ลาน้อยของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นเวลา 1 ปี แล้วถูกย้ายไปรักษาราชการแทนครูใหญ่โรงเรียนบ้านห้วยฮ่อม ตำบลแม่ลาน้อย ประมาณ 3 เดือน ต่อจากนั้นก็ได้ไปช่วยสอนที่โรงเรียนบ้านแม่หาร อำเภอแม่สะเรียง เป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะย้ายไปประจำที่โรงเรียนบ้านผาผ่า กิ่งอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน อีก 1 ปี ซึ่งในช่วงที่เป็นครูอยู่นี้ท่านได้สอบวิชาครูชุด พ.ก.ศ. ไปด้วย โดยสอบได้ทั้ง 5 ชุดภายในเวลาปีครึ่ง ในขณะที่คนอื่นๆ ใช้เวลาประมาณ 2 ปี แต่ท่านก็ไม่ได้สอบวุฒิ ป.ม. ซึ่งเป็นชุดสุดท้ายต่อ เนื่องจากต้องการจะยุติการศึกษาวิชาครูไว้เพียงเท่านั้น

จากโรงเรียนบ้านผาผ่า ในปี พ.ศ. 2515 ท่านได้ย้ายกลับมาอยู่ที่โรงเรียนบ้านจอมแจ้ง ซึ่งตนเองเคยเรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษา ปีนั้นปีที่ท่านเริ่มสในใจธรรมะโดยเริ่มต้นจากความกลัวว่าจะเสียชีวิต ท่านเล่าว่าขณะที่ตนเองนอนหลับอยู่ในตอนกลางวันของวันหนึ่งได้ฝันเห็นคนนุ่ง ขาวห่มขาวถือไม้เท้าเดินมาอยู่เหนือศีรษะแล้วพูดว่า “ระวังให้ดีๆ ตายโหงมาแล้ว 3 ชาติ ชาตินี้ถ้าไม่ทำความดีก็จะตายโหงอีก” ท่านจึงสะดุ้งดื่นแล้วถามตัวเองว่าจริงหรือหลอก เพราะจริงก็เหมือนฝัน ฝันก็เหมือนจริง ระยะนั้นท่านใช้ชีวิตในวัยหนุ่มอย่างสนุกสนาน เป็นประธานกลุ่มหนุ่มสาว เป็นหัวหน้าวงสตริงในหมู่เพื่อนๆ ทั้งดื่มสุราและเล่นการพนัน ใจคอกว้างขวางเลี้ยงเพื่อนฝูงไม่อั้น จนกระทั้งมีหนี้สินมากมาย เงินเดินที่ท่านเคยรับเต็มจำนวนและเคยพอใช้ ทั้งยังส่งเสียบิดามารดาอีกเป็นประจำก็ร่อยหรอลงทุกที ความฝันในครั้งนั้นจึงเท่ากับเหนี่ยวรั้งชีวิตของท่านที่ล่องลอยไปตามกระแส โลกให้หันเหมาทางธรรม

สู่ร่มกาสาวพัสตร์

ไม่กี่เดือนต่อมาในช่วงใกล้พรรษา เพื่อนครูที่สำมะเลเทเมาด้วยกันกับท่านได้พูดขึ้นในวันหนึ่งว่า ใครที่อยากจะบวชก็บวชได้แล้ว เพราะใบลาบวชมาถึงแล้ว ท่านมาได้คิดว่าอายุของตนเองก็จวนเจียนจะถึงวัยเบญจเพศเต็มทีจะตายโหงหรือ ไม่หนอตามความฝันคำพูดของชีปะชาวผู้นั้นก็ยังคงกึกก้องอยู่ในหูของท่านตลอด เวลา ใจก็หมองจนคิดอยากจะบวชให้พ้นจากชะตากรรมที่ชีปะชาวทำนายในพรรษาของปี พ.ศ. 2515 นั้นเองท่านจึงได้ตัดสินใจลาราชการเพื่ออุปสมบทเป็นเวลา 3 เดือน โดยจำพรรษาอยู่ที่วัดจอมแจ้งในตัวอำเภอแม่สะเรียง พระอุปัชฌาย์ของท่านคือพระครูอนุศาสนปุญญาทร (คำน้อย) ได้ตั้งฉายาให้ท่านว่า “รตนญาโณ” หมายถึง “ผู้มีญาณเป็นแก้ว” ในช่วงแรกของการอุปสมบทนี้ ท่านได้เริ่มปฏิบัติธรรมด้วยวิธีอานาปานสติ กำหนดพุทโธ และหาหนทางฝึกกรรมฐานด้วยตนเอง

พระอาจารย์รัตน์เล่าว่า ประวัติการฝึกปฏิบัติธรรมและการได้ธรรมะของท่านนั้นค่อนข้างเป็นเรื่อง อัศจรรย์เหลือเชื่อทั้งนั้น ตัวอย่างเช่น เมื่อท่านต้องการจะเรียนธรรมะด้วยตนเองแต่ไม่มีครูบาอาจารย์สอน ก็มาคิดว่าจะเริ่มต้นจากจุดใดดี ท่านได้ไปที่ตู้หนังสือของวัดแล้วหลับตาอธิษฐาน ขอให้หยิบหนังสือที่เกี่ยวกับสมาธิภาวนาออกมาด้วยเถิด ปรากฏว่าท่านหยิบได้หนังสือ “กรรมฐาน 40” หรือวิธีปฏิบัติสมาธิ 40 วิธี จึงมาเลือกดูว่าวิธีปฏิบัติวิธีใดจะถูกกับจริตนิสัยของตัวเองบ้าง ท่านอ่านพบว่าตนเองเป็นคนวิตกจริต ควรจะต้องใช้วิธีอานาปานสติ จึงมานั่งปฏิบัติโดยกำหนดลมหายใจเข้าออกด้วยตัวเองไม่ถึง 5 นาที ท่านก็รู้สึก “ตาสว่างหมด” และเห็นภาพนิมิตต่างๆ จากนั้น ท่านก็ลองปฏิบัติสมาธิอีกหลายๆ วิธีตามแนวทางในหนังสือเล่มนี้ จนกระทั้งมีความคิดว่าตนเองสามารถปฏิบัติกรรมฐานได้แล้ว แต่อย่างไรก็ดีท่านเห็นว่ากรรมฐานที่ได้ทดลองปฏิบัติไป ก็ไม่ได้ทำให้ท่านเกิดปัญญาและมีจิตหลุดพ้นได้ ครั้งต่อมาท่านจึงไปที่ตู้หนังสือเดิมอีก แล้วก็ตั้งอธิษฐานใหม่ ว่าหนังสือเล่มใดที่จะช่วยทำให้จิตของตนเองหลุดพ้นได้ก็ขอให้หยิบหนังสือเล่ นั้นขึ้นมาด้วยเถิด คราวนี้ท่านหยิบได้หนังสือ “คิริมานนทสูตร” เมื่อท่านดูแล้วท่านก็ได้ธรรมข้อที่ว่า “จิตมีไว้สำหรับโลก ลมมีไว้สำหรับโลก

เข้าถึงสภาวธรรม

ช่วงที่ท่านเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์นี้เอง ที่ความลับเรื่องหนี้สินที่มีอยู่เกิดแตกขึ้นมา เนื่องจากเมื่อถึงสิ้นเดือนโยมมารดาของท่านได้ไปรับเงินเดือนแทน และทราบว่าเงินเดือนเดือนนั้นของท่านเหลือเพียง 60 บาท โยมมารดาก็ตกใจเพราะไม่ทราบว่าพระลูกชายนำเงินไปใช้ที่ใดหมด ภาพลักษณ์การเป็นเด็กดี ส่งเสียบุพการีในสายตาของโยมบิดามารดารของท่าน ก็เปลี่ยนมาเป็นคนน้ำนิ่งไหลลึก ครั้นพระอาจารย์รัตน์ทราบว่าโยมมารดาล่วงรู้ความลับของตัวท่านเองหมดแล้วก็ สำนึกผิด จิตใจกระวนกระวาย นั่งสมาธิไม่ได้อยู่หลายวัน ผุดลุกผุดนั่ง กว่าท่านจะเริ่มปฏิบัติได้อย่างจริงจังก็ต่อเมื่อถึงวันที่ 1 กันยายน 2515 วันนั้นท่านบอกว่าเป็น “วันตายของอาตมา แล้วก็ได้ธรรมวันนั้นพอดี” ขณะที่ท่านนั่งสมาธิไป จิตใจก็ฟุ้งซ่านมากคิดไปว่า “เราจะเป็นบ้าแล้วละกระมังอย่างที่เขาเรียกว่ากรรมฐานแตก พี่ชายก็เป็นบ้าไปคนหนึ่งแล้ว สร้างความทุกข์ยากให้กับพ่อแม่ อย่ากระนั้นเลย เราฆ่าตัวเองตายเสียดีกว่า แล้วเอาเงิน ช.พ.ค. (ช่วยเพื่อนครู-ผู้วิจัย) ให้พ่อแม่” แต่ปรากฏว่าท่านหาสิ่งใดๆ ที่จะฆ่าตัวเองตายก็ไม่ได้ กำลังคิดจะเอาไฟฟ้าช็อตเข้ามือตัวเองอยู่พอดี ทันใดนั้นผ้าสังฆาฏิก็ตกลงมาต่อหน้า ท่านจึงรู้สึกตัวว่า “เอ๊ะ เราเป็นพระนี่ เราไม่ควรตายด้วยวิธีนี้” แล้วก็นึกถึงหนังสือคิริมานนทสูตรที่เคยอ่อนขึ้นมาได้ว่า ที่แท้จิตเป็นลม มีไว้สำหรับโลก ถ้าลมดับจิตก็ดับเพราะว่าจิตนี้อาศัยลมอยู่ ถ้าเราดับลมโดยการกลั้นลมหายใจตาย จิตก็คงจะดับไปเอง คิดได้ดังนั้น ท่านก็ตั้งใจกลั้นลมหายใจของตนเองจนกระทั่งรู้สึกเหมือนกับมีก้อนหินมาทับ หน้าอกชั่วขณะจิตที่ลมหายใจของท่านกำลังใกล้จะดับอยู่นั้นเอง ก็รู้สึกว่าจิตของตัวเองหลุดออกไป แต่เมื่อนึกขึ้นมาได้ว่าเราคงจะต้องไปเป็นผีแน่นอน แล้วก็ต้องไปทนทุกข์อีก จิตของท่านก็ไม่อยากไปเป็น จึงหวนคืนเข้าสู่ร่างอีก ท่านจึงได้กลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แต่ท่านก็ไม่ต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ในขณะที่จิตของท่านอยู่ตรงกึ่งกลางไม่ทราบจะไปทางไหนดี เพราะไปเป็นผีก็ไม่อยากเป็น เป็นคนก็ไม่อยากเป็นอยู่นั้นเอง ก็เกิดความสว่างวาบ จิตของท่านก็หลุดจากอุปาทานของขันธ์ขึ้นในตอนนั้น รู้สึกว่า “โล่ง” ความคิดความนึกของท่านได้หายไปหมด ท่านจึงได้บรรลุธรรมในวันนั้น พร้อมกับหมดความสงสัยในเรื่องของบาปบุญคุณโทษ เรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรื่องนิพพานหรือเรื่องใดๆ ที่ละเอียดลึกซึ้งกว่านี้ไปด้วย

พระอาจารย์รัตน์ได้บันทึกประสบการณ์ทางธรรมที่ท่านได้ประจักษ์ด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2515 ซึ่งท่านเรียกสภาวะเช่นนั้นว่า “ตถตา” หรือ “ตถาตา” หรือ “ความเป็นเช่นนั้นเอง” ซึ่งผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ไม่อาจบอกใครได้ ไว้ในกลอนเปล่าที่ชื่อว่า “สิ่งนั้น” ในหน้าก่อนสุดท้ายของหนังสือ “เราจะทำดวงตาให้เห็นธรรมได้อย่างไร” ของวัดดอยเกิ้ง ดังนี้

“สิ่งนั้น”

โอ้ สิ่งนี้ช่างประเสริฐจริงหนอ

ไม่มีจุดเริ่มต้นหรือแตกแยก

นอกเหนือจากกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ

ไม่เกี่ยวเนื่องด้วยกาละเวลา

ไม่มีใครหรือธรรมชาติอันใด

ที่จะเข้าไปเกี่ยวและยึดถือ

ช่างไม่รู้จะสรรหาสิ่งใดเข้าไปเปรียบเทียบ

ทั้งไม่สามารถบรรยายเป็นภาษาพูดได้

ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

แม้กาละเวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนไป

ตราบนาน เท่านาน แสนนาน

ทว่าสิ่งนี้ก็หาได้แปรเปลี่ยนไปตามไม่

ไม่มีใครที่จะอาจเอื้อมเข้าไปแตะต้องได้แม้แต่น้อย

ถึงขุนเขาจะละลาย แม่น้ำจะเหือดแห้งไป

แต่สิ่งนี้ก็ยังคงดำรงสภาพของมันอยู่

คงฟ้า คงดิน คงจักรวาล

ไม่มีใครจะร้องเรียกหรือตั้งชื่อมันได้

ไม่มีคนที่จะเข้าไปรู้เห็นมัน

ไม่อาจที่จะเข้าไปยึดถือว่าเป็นของคนนั้นคนนี้

โอ้ช่างวิเศษอะไรเช่นนี้

ถึงแม้กฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติจะไหลเรื่อยไป

ทุกขณะของกงล้อแห่งกาละ

เกิดขึ้น ตั้งอยู่ สลาย

อยู่แล้วๆ เล่าๆ

แต่สิ่งนี้ก็ยังคงสภาพเดิมของมัน

ช่างไม่รู้ร้อน รู้หนาว รู้เปลี่ยนแปลงจริง

ฉันไม่รู้จะต้องเรียกสิ่งนั้นว่าอย่างไร

เพราะมันมิได้อยู่ใต้กฎแห่งธรรมชาติและสมมุติบัญญัติ

หรือกฎเกณฑ์ขอบข่ายของอะไรทั้งสิ้นในอนันตจักรวาลนี้

รัตน์ รตนญาโณ

1 กันยายน 2515

เมื่อแรกที่พระอาจารย์รัตน์ได้บรรจุธรรมนั้น ท่านยังไม่อาจจะสั่งสอนธรรมะให้แก่ผู้ใดได้เลย เพราะท่านเห็นว่าวิถีทางที่ตนเองได้เข้าถึงธรรมโดยการกลั้นลมหายใจตาย เป็นการเสี่ยงต่อชีวิตและยากที่จะหาใครทำได้ ตามวิสัยของสัตว์โลก ทุกคนย่อมมีห่วงและมีความรักตัวกลัวตายด้วยกันทั้งนั้น คงจะไม่มีใครกล้ากลั้นลมหายใจเพื่อให้เข้าถึง “ธรรม” ได้อย่างแน่นอน ด้งนั้นวิธีการที่ทำให้บรรลุธรรมของท่านจึงคงไม่น่าที่จะให้ผลแก่บุคคลใดได้

พระอาจารย์รัตน์ได้ให้อรรถาธิบายเพิ่มเติม ถึงสภาวธรรมที่ท่านได้เข้าถึงว่าเป็น “สิ่งที่ไม่มีที่ยึดเกาะ ถ้าสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมี ถ้าสิ่งนี้ดับ สิ่งนั้นก็ดับ เป็นไปตามเหตุและปัจจัยที่ต่อเนื่องตามเหลักพุทธศาสนา ไม่ติดอยู่ที่ความว่าง ความสะอาด สงบหรือบริสุทธิ์ต่างๆ เพราะถ้ามีการข้องติดอยู่ในสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ความสะอาด บริสุทธิ์ ต่างๆ ซึ่งเป็นสมถกรรมฐานแล้วก็จะไม่เกิดการวนรอบที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตตามที่เป็นจริง” ท่านได้เปรียบเทียบสภาวะนี้ว่าเสมือนกับมีเมืองอยู่เมืองหนึ่งทีใครก็มองไม่ เห็น แสงก็ไม่มี แต่เป็นเมืองที่มีความสงบร่มเย็นมาก มีผู้เรียกว่าเป็นเมืองนิพพาน หากมีคนไปเห็นเมืองนี้ก็ถือว่ายังไม่ถึงเพราะเป็นการไปเห็นด้วยตา หรือหากมีคนทราบว่ามีเมืองนี้อยู่ ก็ถือว่ายังไปไม่ถึงอีกเพราะเป็นการทราบด้วยใจ ผู้สอนธรรมเพียงแต่บอกทางให้คนอื่นทราบว่าหนทางที่ไปสู่เมืองนี้คือทางใด เท่านั้น และเมื่องไปถึงเมืองนี้แล้วผู้ที่ไปถึงก็บอกใครไม่ได้อีกเช่นกันว่าเมืองนี้ เป็นอย่างไรเพราะเป็น “สิ่ง” ที่พึงรู้เฉพาะตน หรือ “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ” เรียกผู้อื่นให้มาดูได้ ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล ซึ่งพระพุทธองค์เองก็ไม่เคยตรัสว่าพระธรรมนั้นเป็นสีขาว สีดำ สีแดง หรือเป็นความสงบ เย็น บริสุทธิ์ แต่เป็น “สิ่ง” ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้วเท่านั้น

สภาวะที่เรียกว่า “สิ่งนั้น” ซึ่งพระอาจารย์รัตน์ได้เข้าถึงนี้จะไม่สามารถเขียนออกมาได้ และจะพูดว่าเป็นความว่างก็ไม่ได้หรือความสว่าง ความบริสุทธิ์ ความสงบก็ไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะไม่เช่นนั้นก็จะมี “ของคู่” ของสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาเกิดขึ้นทันที สภาวะนี้จะเป็นตัวคงที่เป็นสภาวะตถตา คือความเป็นเช่นนั้นเองของมันจะลืมตาหรือหลับตาก็เป็นอยู่เช่นนั้น ไม่เห็นความแตกต่าง อีกทั้งยังเป็นการไม่ยึดติดในทิฏฐิหรือความเห็นสองส่วนด้วย อันได้แก่ อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญคือ เห็นว่าทุกอย่างนั้นว่างเปล่าไม่มีตัวตน ตายแล้วก็หมดไปสิ้นไป กับสัสสตทิฏฐิ หรือความเห็นว่าทุกสิ่งเป็นสิ่งเที่ยงถาวร คือโลกนี้เที่ยงตลอด เช่น ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตายหรือการเวียนว่ายตายเกิด แต่กลับเห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแต่เหตุ เกิดแต่ปัจจัย เพราะมีสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงมี ซึ่งในสมัยพุทธกาล การไม่ยึดติดในสองส่วนดังกล่าวก็อยู่ในรูปของ “ธรรมจักร” หรือ “การหมุน” นั่นเอง โดยที่ภายในตัวมนุษย์ทุกคนก็จะมีผัสสะหรือการกระทบสองส่วนคือภายนอกและภายใน เกิดขึ้นอยู่เสมอ ภายนอกก็ได้แก่การกระทบที่เกิดขึ้นที่อายตนะภายนอก อันได้แก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และสมอง ส่วนการกระทบภายในก็จะเกิดขึ้นที่ใจ ปรุงแต่งขึ้นเป็นเรื่องราวต่างๆ ถ้าหากบุคคลใดไม่ติดการกระทบ ไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายใน แล้วอาการหมุนของเขาก็จะเกิดขึ้นทันทีเรียกว่า “ธรรมจักร”

หลังเข้าถึงสภาวธรรม

พระอาจารย์รัตน์กล่าวว่าคำสอนของพระพุทธองค์อาจจะมีเรื่องละเอียดลึกซื้งมาก มายกว่าที่ตนเองทราบ แต่เนื่องจากท่านหมดสิ้นความสงสัยแล้วหลังจากเข้าถึงสภาวธรรม ท่านก็ได้เปลี่ยนทัศนคติของตนเอง จากเดิมที่จะอุปสมบทเพียงเพื่อหนีชะตากรรมที่ชีปะขาวทำนายไว้ มาเป็นการมุ่งที่จะช่วยเหลือพระศาสนาช่วยเหลือชาวโลก เพราะตระหนักดีว่าอายุจริงๆ ของท่านนั้นหมดแล้วตามที่ชีปะขาวมาเตือนสติ แต่ด้วยอำนาจคุณธรรมของศาสนามาช่วยไว้ จึงทำให้ท่านมีชีวิตรอดมาได้ ดังนั้นชีวิตที่เหลือยู่ของท่านก็จะช่วยพระศาสนาไปจนถึงที่สุด เพื่อให้คนทั่วไปทราบว่าธรรมะคืออะไรต่อจากนั้นท่านจึงได้ตั้งต้นศึกษาแนว ทางการสอนธรรมะสายต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทยโดยละเอียด ศึกษาภูมิธรรมของครูบาอาจารย์สายต่างๆ และการหลุดพ้นของท่านเหล่านั้น รวมทั้งอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ด้วยว่าเกิดขึ้นมาจากอะไร โดยใช้ “ญาณทัสสนะ”ของตนเอง พระอาจารย์รัตน์กล่าวว่า ญาณทัสสนะนี้เป็นความรู้ที่ไม่ต้องนึกคิดหรืออ่านจากที่ใดและจะเป็นไปเองโดย ธรรมชาติ จากการที่บุคคลใดเมื่อเข้าถึงสภาวะเดิมของจิตไประยะหนึ่งแล้วเมื่อใดที่มี “เหตุ” ทำให้ต้องการทราบเรื่องใด ๆ ขึ้นก็จะมีการตั้งคำถาม ป้อนข้อมูลจนสามารถสืบสาวไปหาเหตุของสิ่งนั้นๆ ได้ในที่สุด

ต่อมาพระอาจารย์รัตน์ก็ได้มาพิจารณาดูว่าการสอนคนนั้นสอนไม่ยาก เพราะว่าทุกๆ คนหรือแม้แต่สัตว์ เช่น หมูหมากาไก่ ก็มีสภาวะ “ตถตา” หรือ “สิ่งนั้น” อยู่แล้ว เหมือนกันกับมี “แก้ว” อยู่ในตัวของเขาเอง หากแต่มีโมหะหรืออวิชชามาบดบังเอาไว้เท่านั้น เราจึงควรจะเป็นผู้แนะวิถีทางที่เขาจะเอาเศษขยะ สิ่งสกปรกต่างๆ ออกมา ให้เขาเห็นโทษเห็นภัยจากการเข้าไปยึดติดจนทำให้สภาวะตถตาดังกล่าวนี้เปลี่ยน แปรไป กระทั้งคนเราไม่เห็นสัจจะความจริงแต่อย่างไรก็ดี ท่านก็ยังไม่ได้เริ่มสินการปฏิบัติธรรมให้แก่สาธุชน เนื่องจากเป็นการอุปสมบทระยะสั้นเฉพาะช่วงเข้าพรรษาเท่านั้น ต่อมาหลังจากออกพรรษาของปี พ.ศ. 2515 แล้ว พระอาจารย์รัตน์ก็ได้ลาสิกขาบทออกมารับราชการในตำแหน่งครูตามเดิมที่ โรงเรียนจอมแจ้ง อำเภอแม่สะเรียง เพื่อชดใช้หนี้สินที่มีอยู่ก่อนอุปสมบท ช่วงปลายนั้นเองที่ท่านเริ่มฝึกกายทิพย์ด้วยตนเอง จากความรู้ที่ได้จากญาณทัสสนะ ขณะเดียวกันท่านก็เริ่มต้นรับประทานอาหารมังสวิรัติโดยใช้วิธี “เจเขี่ย” ในการรับประทานอาหารร่วมกับครอบครัวก่อนนานวันเข้าบิดามารดาและพี่น้องก็ เริ่มสังเกตเห็นและทำอาหารมังสวิรัติให้แก่ท่าน

กลับสู่ร่มกาสาวพัสตร์

ประมาณปีเศษหลังจากลาสิกขาบทออกมารับราชการครูตามเดิมแล้ว หนี้สินของท่านก็หมดลง ท่านจึงลาออกจากราชการด้วยปณิธานอันแน่วแน่ที่จะช่วยผดุงพระศาสนาในเพศของ บรรพชิตไปตลอดชีวิต ตามที่ได้เคยปวารณาตัวไว้ ครั้งแรกผู้บังคับบัญชาไม่ยอมให้ท่านลาออก แต่อนุญาตให้ลาป่วยเป็นเวลา 2 เดือน แต่เมื่อท่านยืนยันความตั้งใจเดิม ผู้บังคับบัญชาก็จำต้องอนุญาต การอุปสมบทใหม่ของท่านในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2517 นี้มีพระคูรอนุสรณ์ศาสนเกียรติ เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านได้พำนักอยู่ ณ วัดจอมทอง ตำบลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง ประมาณ 2 เดือนเศษ แล้วจึงไปอยู่วิเวกที่ดอยสันป่าคาในอำเภอแม่สะเรียงอีก 2 เดือนเศษ ก่อนจะย้ายกลับมาอยู่ที่วัดจอมแจ้งตามเดิม เพื่อมาจำพรรษาแรกของการอุปสมบทครั้งที่สองที่นี่

หลังการอุปสมบท พระอาจารย์รัตน์ก็ได้เริ่มฉันอาหารมังสวิรัติ แบบค่อยเป็นค่อยไปโดยใช้วิธี “เจเขี่ย” แรก ๆ ท่านพบความยากลำบากตามสมควร ปีเศษต่อมาญาติโยมก็เริ่มทราบและทำอาหารมังสวิรัติถวาย เช่น ถั่วลิสงทอด ถั่วเน่าทอด (อาหารพื้นบ้านภาคเหนือคล้ายกะปิ-ผู้วิจัย) ต้มผัก น้ำพริก ฯลฯ ทำให้ท่านมีความสะดวกมากขึ้น พระอาจารย์รัตน์ได้ให้เหตุผลของการฉันอาหารมังสวิรัติว่า เนื่องมาจากเมื่อปฏิบัติธรรมไประยะหนึ่งแล้วก็จะทราบอดีตของตนเองว่าได้เคย สร้างกรรมอันใดมา ขณะนี้ตัวท่านเองเป็นเช่นนี้ อนาคตข้างหน้าจะเป็นเช่นไร และกรรมอันใดที่ได้สร้างไว้แล้วจะส่งผลไปถึงแต่ไหน เพียงใด ฉะนั้น การฉันเนื้อสัตว์ก็เปรียบเสมือนการกัดกินเนื้อของตนเองในอดีตชาติ สัตว์นั้นมีความอาฆาตพยาบาทมาก ความอาฆาตพยาบาทดังกล่าวจะแทรกซึมอยู่ในเนื้อของเขา จึงฉันไม่ลง ฉันไม่ได้

พระอาจารย์รัตน์ได้เริ่มต้นการสอนกรรมฐานให้แก่สาธุชนอย่างจริงจัง ก็ในปีรุ่งขึ้น พ.ศ. 2518 ที่วัดจอมแจ้ง อำเภอแม่สะเรียง โดยได้สอนโยมมารดาและโยมสูงอายุที่มาถือศีลแปดที่วัดอีก 4-5 คน เป็นกลุ่มแรก วิธีการสอนของท่านในครั้งนั้นก็คือ การให้ผู้ปฏิบัติคลายอารมณ์ปล่อยวางความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ให้ออกไปเป็นความว่าง แล้วให้ยกจิตมาตั้งไว้ที่จมูก ต่อจากนั้นก็ให้เลื่อนจิตมาที่ฐานที่ตั้งของหัวใจเมื่อทำจิตให้นิ่งอยู่ใน หัวใจแล้วก็ปล่อยจิตให้ว่างไปติดอยู่ในความว่าง นานเข้าบางคนก็เห็นนิมิตต่างๆ หรือบางคนถ้าถึงความว่างมากเข้าก็หลับ (พระอาจารย์รัตน์มาทราบภายหลังจากการค้นพบสมาธิหมุนแล้วแล้ว วิธีนี้ทำให้ผู้ปฏิบัติติดอยู่ข้างในใจ หรือติดที่การกระทบในใจ) ซึ่งพระอาจารย์รัตน์ก็ได้สอนการทำสมาธิวิธีการนี้ติดต่อกันมาเรื่อยๆ ขณะที่ท่านพำนักอยู่ ณ วัดจอมแจ้งและวัดศรีดอนไชย อำเภอแม่สะเรียง ระหว่างปี พ.ศ. 2518 ถึงต้นปี พ.ศ. 2525

ต่อมาเมื่อศรัทธาญาติโยมได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสำนักปฏิบัติธรรม ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นวัดดอยเกิ้ง และอาราธนาให้ท่านมาเป็นเจ้าสำนักในปี พ.ศ. 2524 แล้ว พระอาจารย์รัตน์ก็ยังคงสอนสมาธิแบบสงบนิ่งดังกล่าวให้แก่ญาติโยมต่อไปเช่น เดิม เนื่องจากท่านไม่ทราบว่าจะสอนคนให้หลุดพ้นได้อย่างไร ทั้งนี้เพราะวิถีทางที่ท่านได้สภาวธรรมจนจิตหลุดพ้นจากการปรุงแต่ง จากอุปาทานของขันธ์ห้า เกิดโล่งโปร่งขึ้นมานั้น เป็นการกลั้นลมหายใจจนเกือบเสียชีวิต ซึ่งท่านคิดว่าคงจะไม่มีใครสามารถปฏิบัติตามได้เพราะทุกคนต่างก็รักตัวกลัว ตายด้วยกันทั้งนั้น พระอาจารย์รัตน์มีโอกาสสอนสมาธิให้แก่โยมบิดาและมารดาเป็นเวลาหลายปี ก่อนท่านทั้งสองจะเสียชีวิตไปโดยที่โยมมารดาของท่านสิ้นบุญไปก่อนเมื่อ พ.ศ. 2524 และโยมบิดาของท่านสิ้นบุญไปหลังจากนั้นสองปีใน พ.ศ. 2526 จนกระทั่งใน พ.ศ. 2530 พระอาจารย์รัตน์ก็ได้มาปรารภว่า ตัวท่านเองได้สอนสมาธิให้แก่ญาติโยมมาเป็นเวลาถึง 12 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีผู้ปฏิบัติคนใดมีจิตหลุดพ้นได้เลยแม่แต่คนเดียว ได้แต่เพียงความสงบเท่านั้น และที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การสอนสมาธิของพระภิกษุสงฆ์โดยวิธีนี้ก็มีอยู่มากพอแล้ว ฉะนั้นตัวท่านจึงควรจะไปแสวงหาความวิเวกในที่สงัด เพื่อหาวิธีการสอนสมาธิที่สามารถจะทำให้คนมีจิตหลุดพ้นได้โดยเร็วก็คงจะเป็น การดีไม่น้อย เพราะท่านคิดว่าจุดหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรมก็คือ การมีจิตหลุดพ้นหรือการพ้นทุกข์นั่นเอง

ค้นพบ “สมาธิหมุน” กลับคืนมา

ในที่สุด พระอาจารย์รัตน์ก็ได้ขึ้นไปปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียร เพื่อให้บรรลุความตั้งใจของท่านที่สำนักสงฆ์สันติสุขในเขตตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง ซึ่งเป็นสำนักสงฆ์สาขาหนึ่งของวัดดอยเกิ้ง สี่เดือนผ่านพ้นไป วันหนึ่งขณะที่ท่านเดินจงกรมอยู่ ก็ได้เอาความรู้สึกของตนเองมาจับที่การเดิน รู้สึกไม่มีความแตกต่างระหว่างผู้เดิน (ตัวรู้ในใจ) กับการเดิน ชั่วแวบเดียวก็เกิดแรงหมุนเหวี่ยงขึ้นในร่างกายระหว่างจิต (ตัวรู้) กับเท้า เมื่อท่านก้าวเท้าซ้ายออกไปความรู้สึกก็หมุน ก้าวเท้าขวาออกตามไป ความรู้สึกก็ยังหมุนอยู่อีก จิตของท่านหมุนไปหมุนมา เคลื่อนไปคล้ายกับการถีบจักรยาน จึงลองหยุดดูว่า ถ้าเราหยุดเดินแล้ว อาการหมุนจะยังมีอยู่อีกหรือไม่ ก็ปรากฏว่าแม้เมื่อไม่เดินแล้ว แต่อาการหมุนของจิตของท่านก็ยังคงมีอยู่ อีกประเดี๋ยวจิตของท่านก็ไปหมุนที่สมอง เห็นอาการหมุนของจิตกับความคิดที่สมอง หมุนติ้วๆ แรงขึ้นๆ จนกระทั่งจิตของท่านรับแรงเหวี่ยงไม่ไหวก็ปล่อยความรู้สึกจากการหมุนนั้น ปรากฏว่าจิตหลุด “วืด” ออกไปเข้าสู่สภาวะเดิมของมันหลุดพร้นจากสภาวะปรุงแต่งของขันธ์ห้าท่านก็ รู้สึกว่า “สภาวะโล่ง” เกิดขึ้นในตัวท่านเช่นเดียวกับที่ได้เคยเข้าถึงเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2515 แล้วทุกอย่างทุกประการ

ต่อจากนั้น พระอาจารย์รัตน์ก็ได้ทดลองหมุนจิตของท่านทางอายตนต่างๆ คือ ตา หู จมูก ลิ้น และใจอีก ปรากฏว่าทุกทางเมื่อหมุนแล้วจิตก็เด้งหลุดออกไปหมดสิ้นเนื่องจากแรงเหวี่ยง มีมากก็ได้ทราบว่าจนได้ค้นพบแนวทางใหม่ในการสอนสมาธิเพื่อให้คนเข้าถึงสภาวะ ธรรมโดยเร็วแล้ว ด้วยการไม่ “ติดนอก ติดใน” หรือไม่ให้จิตติดอยู่ทีการกระทบของผัสสะจากอายตนะภายนอก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และสมอง และการกระทบของผัสสะจากอายตนะภายใน คือ ใจ ก็จะทำให้เกิดการหมุนขึ้น ซึ่งก็คือ “ธรรมจักร” นั่นเอง

โดยความจริงแล้ว พระอาจารย์รัตน์กล่าวว่าสมาธิที่ท่านค้นพบนี้ไม่มีชื่อและไม่ได้ตั้งชื่อ ในปีแรกๆ ท่านเองก็ได้เรียกว่า “สมาธิแบบลัดสั้น” และวงรอบของการหมุนก็เรียกว่า “วงกลม” แต่ต่อมาลูกศิษย์ลูกหาของท่านต่างพากันขนานนามว่า “สมาธิหมุน” เนื่องจากอาการทางกายที่เกิดขึ้น คือ ลำตัวหมุนขณะนั่งสมาธิ นอกจากนี้สมาธิหมุนก็ไม่ใช่เป็นสมาธิแนวทางใหม่แต่ประการใด เพราะมีมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว ท่านเป็นผู้ค้นพบให้ “กลับคืนมา” เท่านั้น ดังปรากฏในพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หรือปฐมเทศนาของพระพุทธองค์ที่ได้ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ว่า “บรรพชิตไม่พึงเสพสิ่งสุดโต่งสองส่วน คือภายนอกกับภายใน” การไม่เสพสิ่งสุดโต่งสองส่วนในคำอธิบายของพระอาจารย์รัตน์ก็คือ การไม่ติดทั้งความสงบสุขในใจ คือการบำเพ็ญฌาน หรือได้ฌาณ และการไม่ติดภายนอก อันได้แก่การทรมานร่างกาย เพื่อที่จะได้เข้าถึงธรรมนั่นเอง เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเช่นนี้ จิตของพระโกณฑัญญะก็ “หมุน” ขึ้นในทันที เพราะไม่เสพสิ่งสุดโต่งสองส่วนดังกล่าว จนได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน

การเผยแพร่ธรรม

หลังจากพระอาจารย์รัตน์ได้ค้นพบสมาธิในแนวทางที่จะไปสอนผู้คนให้หลุดพ้นแล้ว ท่านก็มีความสงสารสัตว์โลก ในความคิดหนึ่งท่านเห็นว่า สัตว์โลกนั้นคงจะออกมาจากสภาพของการติดในสิ่งต่างๆ กันได้ยาก เป็นต้นว่า หลงระเริงอยู่กับกิเลสตัณหา ติดอยู่ในอารมณ์ของกามคุณทั้งห้า ถูกครอบงำด้วยโลกธรรมแปด ติดอยู่ในฌาน ในญาณ หรือความสะอาดบริสุทธิ์ แต่อีกความคิดหนึ่งท่านก็เห็นว่า ขณะนี้ผู้คนที่สนใจการปฏิบัติธรรมก็มีมาก เขาอาจจะสนใจแนวทางที่ท่านค้นพบ ซึ่งสามารถทำให้จิตหลุดพ้นก็ได้ อย่างไรก็ตามท่านก็ยังไม่แน่ใจนักว่า แนวทางของสมาธิที่ตนเองค้นพบกลับคืนมาใหม่นี้ จะสามารถนำไปสอนญาติโยมได้หรือไม่ ท่านจึงตั้งจิตอธิษฐานว่าถ้าหากเป็นไปได้จริงก็ขอให้มีผู้มานิมนต์ท่านไปสอน ภายใน 7 วันด้วยเถิด ขณะนั้นอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2530 ปรากฏว่าหลังจากคำอธิษฐานของท่านผ่านไปไม่ถึง 7 วันก็มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผู้หนึ่ง เป็นผู้ไปอาราธนาท่านมาสอนสมาธิให้แก่ญาติโยมที่ถ้ำดอยโตน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวนประมาณ 30 คน ในการทดลชองสอนสมาธิตามแนวทางใหม่เป็นครั้งแรกนี้ ได้มีผู้ปฏิบัติที่จิตหลุดพ้น 3 คน ซึ่งหมดความสงสัยในเรื่องของการปฏิบัติธรรม และบอกว่าตนเองได้พบกับสิ่งที่ต้องการแล้ว ทำให้พระอาจารย์รัตน์มั่นใจว่าตัวท่านเองสามารถสอนสมาธิแนวทางนี้ได้แล้ว นับตั้งแต่นี้ต่อไป

หลังจากนั้น ก็ได้มีญาติโยมมาอาราธนาให้ท่านไปสอนตามที่ต่างๆ ทั้งในเขตจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแม่ฮ่องสอน และข่าวเกี่ยวกับสมาชิกแนวทางใหม่ของพระอาจารย์รัตน์ก็ได้แพร่สะพัดออกไปใน จังหวัดใกล้เคียง ประมาณสามเดือนหลังจากท่านค้นพบวิธีการสอนสมาธิที่ได้ตั้งความปรารถนาไว้ แล้ว ก็คิดว่าควรที่จะได้เริ่มต้นเผยแพร่สมาธิแนวทางใหม่นี้ให้แก่สาธุชนทั่วไป ได้รับประโยชน์อย่างเป็นกิจลักษณะ ดังนั้น ในวันที่ 13 ตุลาคม 2530 พระอาจารย์รัตน์จึงได้ลงจากสำนักสงฆ์สันติสุขเพื่อกลับมาพำนักและเผยแพร่ ธรรมตามเดิม ณ วันดอยเกิ้ง

คำสอนหลักของวัดดอยเกิ้ง

พระอาจารย์รัตน์กล่าวว่า ธรรมชาติของทุกข์เกิดขึ้นกับทั้งคนและสัตว์ พุทธศาสนาจึงมีจุดมุ่งหมายที่จะให้คนพ้นทุกข์ ให้พุทธบริษัทเข้าใจอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ เป็นสภาพที่ทนได้ยาก สมุทัย สาเหตุที่เกิดทุกข์อันเนื่องมาจากการยึดติดในขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) นิโรธ ความดับทุกข์ และมรรค ทางดับทุกข์ คำสอนหลักของวัดดอยเกิ้งก็เช่นเดียวกัน เป็นไปเพื่อ “การหลุดพ้น” หรือ “การพ้นทุกข์” อันสอดคล้องกับหลักของพุทธศาสนา โดยการที่วัดดอยเกิ้งให้การอบรมปฏิบัติธรรมแก่บุคคลทั่วไป รวมทั้งผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ เพื่อให้เข้าถึง “มรรค” หรือถึงซึ่งทางดับทุกข์ และใช้อุบายเรืองปัญญาในการสอนสมาธิ ซึ่งเป็นนิโรธหรือการดับทุกข์ 2 วิธีการหลักควบคู่ไปกับสมาธิวิธีการย่อยๆ โดยที่สมาธิสองวิธีการหลักนี้ก็คือ

    1. สมาธิหมุน หรือการหมุนธรรมจักร
    2. การเจริญสติ ให้เห็นความไม่เที่ยง การเกิดดับของขันธ์ 5 จาก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ และความคิด ที่มากระทบกับอายตนะต่างๆ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และสมอง และปล่อยวางความไม่เที่ยงนั้นเสีย

ฐานความคิดของ “สมาธิหมุน” และ “การเจริญสติ”

สภาวะเดิมของจิตของทั้งมนุษย์และสัตว์นั้นเป็น “ตถตา” ความเป็นเช่นนั้นเอง ที่มิใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่มีใครที่จะเข้าไปยึดถือเอาได้ เป็นสภาวะที่ไร้การปรุงแต่ง ไม่มี โลภ โกรธ หลง ไม่มา ไม่ไป ไม่มี ไม่เป็น ไม่ใช่ความว่าง ความสะอาด สงบ หรือบริสุทธิ์ (เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเกิดของคู่ที่เป็นโลกธรรม คือ ความมีอยู่ ความไม่สะอาด ไม่สงบ ไม่บริสุทธิ์ขึ้นทันที-ผู้วิจัย) ไม่อยู่ภายใต้กฎแห่งธรรมชาติ หรือสมมุติบัญญัติใดๆ ทั้งสิ้น (ดูกลอนเปล่าที่ชื่อ “สิ่งนั้น”) เขียนโดย พระอาจารย์รัตน์ รตนญาโณ เป็นสิ่งเหนือสมมุ เป็นวิมุติหรือความหลุดพ้น ที่ไม่มีอวิชชา ไม่มีการเกิดดับ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า เป็นจิตอิสระ แต่เนื่องจากมีอวิชชา หรือความไม่รู้ในอริยสัจ 4 ไม่รู้ในการวนรอบของ ปฏิจจสมุปบาท มาบดบัง จึงทำให้คนไม่สามารถที่จะเข้าถึงสภาวะเดิมของจิตหรือตถตานี้ได้ การทำสมาธิหมุนและการเจริญสติจึงเป็นอุบายวิธีที่ทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึง “สภาวะเดิมของจิต” หรือถึงซึ่งทางพ้นทุกข์ ซึ่งเป็น “มรรค” หรือ “สภาวธรรม” นั่นเอง

นอกจากการทำให้เข้าถึงซึ่งความหลุดพ้นหรือความดับทุกข์แล้ว สมาธิหมุนและการเจริญสติก็ยังเป็นการทำให้จิตของผู้ปฏิบัติหลุดออกมาจาก อิทธิพลของแรงดึงดูดของโลก ของดวงดาวต่างๆ และดวงอาทิตย์ในสุริยจักรวาล ตลอดจนดวงอาทิตย์ดวงแม่ในสากลจักรวาล ซึ่งจะดึงดูดกันและกันไว้ตลอดเวลา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า หลุดจากอิทธิพลของจักรราศรี รวมทั้งการไม่ตกอยู่ในสังสารวัฏอีกต่อไปด้วย โดยข้อเท็จจริงที่ว่า สภาวะเดิมของจิตของคนเรานั้นเป็นตัวคงที่ เป็นสภาวะ ตถตาหรือความเป็นเช่นนั้นเองของมันอยู่ก่อนแล้ว แต่แรงดึงดูดของโลกที่ดูดดึงเอาสรรพสิ่งต่างๆ บนโลก เข้าไปสู่จุดศูนย์กลางของมัน แล้วผลักออกมา เกิดการดึงเข้าผลักออกแต่ละครั้งทุกๆ วินาทีของโลกนี้ ได้ไปกระทุ้งธาตุรู้ที่จิตให้เต้นตึ้บๆๆ และเกิดความรู้สึก มีตัวมีตนขึ้น จึงเกิดแรงตัณหาเข้าไปเกาะเกี่ยวกับแรงดึงดูดของโลก ซึ่งสัมพันธ์กับแรงดึงดูดของดวงดาวต่างๆ และดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดแรงชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างสืบเนื่องติดต่อกันเป็นสาย เรียกว่า “สันตติ” ในภาษาบาลี หรือแรงสืบต่อของทุกสิ่งที่มีอยู่ในทุกเซลล์ของร่างกายมนุษย์ คล้ายกับตัวชีพจรเต้นตึ้บๆ ๆ โดยเฉพาะที่หัวใจมีกำลังแรงมากที่สุด แรงสันตตินี้จึงสัมพันธ์และสอดคล้องกับเวลาที่โลกดูดดึงสรรพสิ่งเข้าและผลัก ออกทุกๆ วินาที ทั้งยังอยู่ใต้อิทธิพลของแรงดึงดูดของโลก และดวงดาวต่างๆ ในลักษณะที่ใจ (หัวใจ) ของคนเราที่เป็นจุดศูนย์กลางของกายจะถูกแรงนี้ดึงดูดอยู่ ในขณะเดียวกัน ใจก็จะดูดเอาความรู้สึกต่างๆ ที่มากระทบกับอายตนะ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และสมอง) ของคนเราเข้าไปสู่ศูนย์กลางของตัวมันเองอยู่ตลอดเวลาด้วย ดังนั้น คนทุกคนจึงตกอยู่ภายใต้อำนาจแรงดึงดูดของหัวใจตัวเองอย่างหลีกหนีไม่พ้น

พระอาจารย์รัตน์ได้ให้อรรถาธิบายว่า การที่คนเราต้องการจะทำให้จิตหลุดพ้นจากทั้งอิทธิพลของแรงดึงดูดของโลกและ ดวงดาวต่างๆ รวมทั้งของ “ใจ” เช่นนี้ได้ ก็จำเป็นจะต้องทำสมาธิหมุนหรือการเจริญสติหรือสมาธิประเภทใจก็ได้ตามความ เห็นของท่านที่มีวงรอบของการภาวนาในแต่ละครั้งไม่ช้าไม่เร็วกว่า 1 วินาทีนัก เพื่อให้เท่ากับสันตติหรือ “ตัวปกติ” หรือ “ตัวตึ้บๆ ๆ “ หรือเวลาที่โลกดูดดึงสรรพสิ่งต่างๆ บนโลกเข้าไป และผลักออกจากจุดศูนย์กลางของมันแต่ละครั้ง ซึ่งกินเวลา 1 วินาที นั่นเอง ส่วนที่ว่าจะช้าหรือเร็วกว่า 1 วินาทีมากนักไม่ได้ ก็เพราะว่าจะทำให้จิตไม่สามารถเหวี่ยงตัวหลุดออกมาจากแรงดึงดูดดังหล่าวนี้ ได้ นั่นก็คือ ไม่ว่าจะเป็นการทำสมาธิหมุน 1 รอบ หรือการเจริญสติให้เป็นปัจจุบันขณะ เห็นการเกิดดับๆ ตึ้บๆ ๆ ของขันธ์ 5 หรือเห็นความไม่เที่ยงของการกระทบทางอายตะในแต่ละครั้ง ก็จะต้องใช้เวลาประมาณ 1 วินาที ให้เท่ากับ “สันตติ” หรือ “ตัวปกติ” ดังกล่าวเช่นเดียวกัน

พระอาจารย์รัตน์ได้ให้อรรถาธิบายเพิ่มเติมต่อไปอีกว่าการปฏิบัติสมาธิที่มี วงรอบของการภาวนาในแต่ละครั้งเร็วกว่า 1 วินาที จะทำให้ไม่สามารถบังคับจิตได้ แต่ถ้าช้ากว่า 1 วินาที แล้ว จิตก็จะถูกสุกด เกิดความเบื่อหน่าย ถึงสภาวะที่จิตดับไม่รู้สึกตัว ยกตัวอย่างเช่น สมถกรรมฐาน ซึ่งทำให้จิตนิ่งอยู่ที่ฐานใดฐานหนึ่ง จะเป็นการใช้พลังจิตไปกดการเต้นของหัวใจตึ้บๆ ๆ หรือตัวปกติให้ช้าลงบ้าง ให้นิ่งบ้าง จนไม่เป็นปกติ ซึ่งแม้ว่าขณะปฏิบัติจะทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความสุข ความสงบได้จริง แต่ก็จะเป็นการฝืนกฎของธรรมชาติ เพราะว่าหัวใจมีหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ถ้าหัวใจเต้นช้ากว่าปกติคือทุกๆ ประมาณ 1 วินาที โลหิตก็จะไม่ไปเลี้ยงปลายประสาทขณะที่นั้งสมาธิอยู่แม้ว่าจะรู้สึกสงบสบาย แต่นานไปร่างกายก็จะรู้สึกชาทั่วตัว มีสภาพทื่อ ๆ แข็ง ๆ ต่อไปเส้นโลหิตในสมองก็อาจจะตีบหรือแตก ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ในที่สุด สำหรับกรณีของผู้ที่ทำสมาธิโดยเจริญสติช้ากว่า 1 วินาที ของโลกก็เช่นเดียวกัน ไม่ถือว่าเป็นปัจจุบันขณะ เพราะว่าช้ากว่าเวลา 1 วินาที ที่โลกดูดดึงเอาสรรพสิ่งเข้าหาตัวของมันเองและผลักออกในแต่ละครั้ง (1 วินาที จึงจะถือว่าเป็นปัจจุบันขณะ) เมื่อไม่เห็นการเกิดดับ ๆ ของขันธ์ (ไม่เห็นการเกิดดับๆ ของรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) ทุกๆ 1 วินาทีแล้ว ก็จะทำให้จิตอึดอัด นานไปจิตก็จะดับ หรือไม่ก็เข้าสู่อารมณ์ของฌาน แต่จะไม่สามารถทำให้จิตหลุดพ้นได้เลย

สำหรับบุคคลที่เจริญสติ จนกระทั่งเห็นการเกิดดับ ๆ ของขันธ์ 5 เป็นปัจจุบันขณะทุก 1 วินาที ไปนานวัน จนกระทั่งการเต้นของหัวใจครั้งหนึ่งเท่าๆ กับเวลาของโลก 1 วินาแล้ว ก็จะมีสติก่อนเสียชีวิต จะรู้วันเสียชีวิตของตนเอง เมื่อจิตดับ ขันธ์ก็ดับ และวิญญาณก็จะดับตามไปด้วย

ความสำคัญของการทำให้จิตหลุดพ้นจากแรงดึงดูดของโลก ไม่ว่าจะโดยสมาธิหมุนก็ดี หรือการเจริญสติก็ดี ที่มีวงรอบของการภาวนาทุก 1 วินาที กับความสัมพันธ์ระหว่างแรงดึงดูดของโลกกับการหลุดพ้นของจิตนี้ ปรากฏในหน้าสุดท้ายของหนังสือ “เราจะทำดวงตาให้เห็นธรรมได้อย่างไร” ของวัดดอยเกิ้ง ว่า

“สรรพสัตว์สิ่งจะถูกแรงดึงจากจุดศูนย์กลางเข้าไปและเมื่อหมดแรงดึงก็จะเด้ง ออกมา แล้วถูกดูดเข้าไปอีก วนไปวนมาเป็นรอบๆ เท่ากับเวลาของโลก 1 วินาที

สังขารทั้งปวงต้องมีการเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา เพราะตกอยู่ในอำนาจของแรงดึงดังกล่าว ดังนั้น เราควรทำกิจการหลุดพ้นของจิตให้ถึงพร้อมอยู่ตลอดเวลา ด้วยความไม่ประมาทถึงจะไม่ตกไปสู่อำนาจแรงดึงอีกต่อไป”

สาระสำคัญของ “สมาธิหมุน” และ “การเจริญสติ”

สมาธิหมุน

สมาธิหมุนหรือ “ธรรมจักร” ก็คือสารัตถะของปฐมเทศนาที่เรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันใกล้เมืองพาราณสี ที่ว่า “บรรชิตไม่พึงเสพสิ่งสุดโต่งสองส่วน” นั่นเอง แต่มิได้ถูกบัญญัติไว้ในพระไตรปิฎกในเวลาต่อมาแต่อย่างใด ภายหลังก็ได้มีการตีความคำว่า บรรพชิตไม่พึงเสพสิ่งสุดโต่งสองส่วนนี้ไปตามทิฏฐิหรือความเห็นของผู้ที่ เกี่ยวข้อง ซึ่งพระอาจารย์รัตน์ได้ให้คำอธิบายว่าการไม่เสพสิ่งสุดโต่งสองส่วน ก็คือการที่บุคคลไม่เอาจิตของตนไปติดอยู่ที่ความรู้สึก ซึ่งมากระทบกับอายตนะภายนอก คือที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย และที่สมอง หรือความรู้สึกซึ่งมากระทบกับอายตนภายใน คือที่ใจ ซึ่งโดยธรรมชาติของจิตของมนุษย์นั้นก็มักจะติดอยู่ที่ข้างใดข้างหนึ่ง คือ ไม่ภายนอกก็ภายในเสมอ แต่ถ้าจิตไม่ “ติดนอก” หรือ “ติดใน” แล้ว ก็จะเกิดอาการ “หมุนวน” ที่เรียกว่า “ธรรมจักร” ขึ้นทันที ในกรณีของพระโกณฑัญญะนั้น เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมจักรให้ปรากฏแล้ว จิตของท่านไม่ติดอยู่กับสิ่งที่มากระทบจากภายนอกและไม่สงบนิ่งอยู่ที่ใจ ก็เกิดอาการ “หมุน” ขึ้นในทันใด จนกระทั่งได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบัน พระพุทธองค์จึงทรงเปล่งอุทานว่า “อัญญาสิ วต โภ โกณฑัญโญๆ” แปลว่า “โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ” พระโกณฑัญญะ จึงได้คำนำหน้าเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะ นับแต่กาลนั้นมา

การหมุนของสมาธิหมุนอาศัยหลักของธรรมชาติ ที่มีการหมุนวนระหว่างอายตนะภายนอกกับอายตนะภายในของคนเราอยู่แล้ว คือเมื่อคนเรารับผัสสะหรือการกระทบจากภายนอก ก็จะวนมาสู่ใจให้เกิดการปรุงแต่ง วนกลับไปกลับมาไม่รู้จักจบสิ้น ตราบใดที่ยังมีเหตุปัจจัยอยู่ การหมุนวนนี้จะเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก จนกระทั่งธรรมชาติปกติของจิตคนเราตามไม่ทัน นอกจากนี้ คนเราก็มักจะไม่เห็นการหมุนวนดังกล่าว เนื่องจากมีโมหะเข้าไปครอบงำจิตและเนื่องจากการที่จิตของคนเรามักจะไปติด อยู่ข้างใดข้างหนึ่งเสมอคือ ถ้าไม่ติดกับการกระทบภายนอกด้วยการได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส รับอารมณ์ มีความคิดต่างๆ ก็มักจะติดอยู่กับการปรุงแต่งที่ใจหรือความสงบนิ่งที่ใจ การทำสมาธิหมุน จึงเป็นการทำให้ผู้ปฏิบัติเห็นธรรมชาติการหมุนวนดังกล่าวนี้ โดยทำให้การหมุนวนดังกล่าวช้าลง จนถึงระดับที่ความรู้สึกของคนปกติตามทัน รวมทั้งเป็นการทำให้จิตไม่ติดนอกและติดในดังที่กล่าวมาแล้วด้วย

สมาธิหมุนเป็นอุบายเรืองปัญญาที่ทำให้ผู้ปฏิบัติเห็นทุกข์ เห็นเหตุแห่งทุกข์ และใช้การหมุนเพื่อออกจากทุกข์เข้าสู่ทางพ้นทุกข์หรือมรรคหรือสภาวธรรม โดยข้อเท็จจริงที่ว่า โดยธรรมชาติจิตของมนุษย์นั้นมักจะรับผัสสะหรือการกระทบด้วยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ และความคิดเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย สมอง และใจอยู่เสมอ ตราบใดที่เหตุยังมีอยู่ คือ อายตนะเหล่านี้ยังไม่บกพร่อง ผิดปกติหรือพิการไป และตราบใดที่ยังมีตัวรู้ (วิญญาณ) อยู่ รวมทั้งปัจจัยก็ยังมีอยู่ เช่น เห็นรูปผ่านมากระทบดวงตา ได้ยินเสียงผ่านมากระทบทางหู เกิดการปรุงแต่งของใจ เป็นความยินดี ยินร้าย ความรัก ความชัง ความทุกข์ ความสุข ฯลฯ เป็นต้น) การกระทบดังกล่าวนี้จะทำให้คนเราเกิดความมีตัวตน เกิดการยึดติดในอุปทานของขันธ์ 5 ซึ่งเป็นร่างกายและจิตใจ คือ เกิดรูป ความรู้สึกมีตัวตน เกิดเวทนา ความรู้สึกทุกข์ สุข เฉย เกิดสัญญา ความจำได้หมายรู้ ว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ มีสิ่งที่มาปรุงแต่งจิตให้ไปยึดติดคือสังขารและเกิดวิญญาณคือ ตัวรู้ในอารมณ์ต่างๆ ขึ้น ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้น

ในขณะที่ทำสมาธิหมุน ผู้ปฏิบัติจึงจะเห็นทุกข์เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เห็นว่าทุกข์เกิดจากตัวเองคือ ผัสสะ หรือการกระทบที่เกิดขึ้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย สมอง และใจ แล้วจิตมาปรุงแต่งให้เกิดการยึดติดในขันธ์ทั้ง 5 การหมุนจึงเป็นไปเพื่อการออกจากทุกข์ คือการคลายอุปาทานในขันธ์ 5 ให้เห็นการวนเกิดของทุกข์จากการยึดติดในขันธ์ 5 เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ สลายหรือเห็นความไม่เที่ยงของขันธ์ 5 ไม่ว่าจะเป็นรูป ความรู้สึกว่ามีตัวเรา ตัวเราเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เกิดเวทนา ความรู้สึกทุกข์ เฉย จากการมีตัวตนเข้าไปยึดติด และมีวิญญาหรือตัวรู้ สติที่ตามดู ตามรู้ ตามเห็น ผู้ปฏิบัติจะต้องหมุนคลายอุปาทานเหล่านี้ออกไปให้เป็นปัจจุบันขณะ ในลักษณะที่ดับเหตุที่เกิดจากผัสสะออกไปเป็นรอบๆ ทุก 1 วินาที จนชำนาญเป็นอัตโนมัติไปจนกระทั่งจิตมีปัญญา เห็นวัฎฎะ ความวนเกิดของจิตเห็นความไม่เที่ยง การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ สลายของขันธ์ ในขั้นสุดท้ายผู้ปฏิบัติจะต้องปล่อยวางการหมุน เพราะเห็นว่าตราบใดที่ยังหมุนอยู่ก็จะยังทุกข์อยู่ร่ำไป เมื่อปล่อยวางอุบายคือ การหมุน อันเป็นที่สุดของการปฏิบัติแล้ว จิตของผู้ปฏิบัติผู้นั้นก็จะเด้งหลุดไปจากอุปาทานของขันธ์ เข้าถึงสภาวธรรมหรือเห็นมรรคในทันที

การที่จิตจะหลุดออกจากสภาวะปรุงแต่ง จากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ และความคิด หรือพ้นจากอุปาทนของขันธ์โดยการหมุนนี้ จะเป็นไปได้ใน 2 ลักษณะ คือ

1. จิตหลุดด้วยแรงเหวี่ยง หมายถึงการที่ผู้ปฏิบัติหมุนเร็วและแรงมาก จนกระทั่งมีแรงเหวี่ยงมากพอที่จิตจะเด้งหลุดออกไปจากวงกลม (วงหมุน) หรือการหมุนวนระหว่างใจกับอายตนะต่างๆ การที่จิตหลุดด้วยวิธีนี้มักจะทำให้ผู้ปฏิบัติล้มหงายหลังลงไปและมีแสงสว่าง ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนเกิดขึ้น

2. จิตหลุดด้วยการปล่อยวาง เมื่อหมุนไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตก็จะมีปัญญายอมรับความจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเพียงอารมณ์เข้ามาปรุงแต่งจิตที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็สลายไปเท่านั้นไม่มีตัวตนที่ถาวร ปล่อยวางอดีต ปัจจุบัน อนาคต พิจารณาเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดเพราะมีปัจจัยหนุนเนื่อง เพราะคนเรามีตัวตน มีอุปาเข้าไปยึดติด แล้วปล่อยวางอุปาทานทุกอย่าง จนกระทั่งในขั้นสุดท้าย ก็ปล่อยวางการหมุนที่เป็นอุบายเสียด้วย จิตก็จะเข้าถึงซึ่งความพ้นทุกข์ เห็นมรรคทางเดิน

การเจริญสติ

เป็นอุบายเรืองปัญญาประการหนึ่ง โดยวิธีการเจริญสติที่มีการสอนแตกต่างกันระหว่างผู้ปฏิบัติทั่วไปกับผู้ติด เชื้อและผู้ป่วยเอดส์ สำหรับผู้ปฏิบัติทั่วไป การเจริญสติมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ปฏิบัติมีสติรู้เท่าทันอย่างเป็น ปัจจุบันขณะ (ให้เท่ากับสันตติ หรือแรงสืบต่อของทุกสิ่งทุกอย่าง หรือเวลาที่โลกดูดดึงสรรพสิ่งต่างๆ เข้าสู่จุดศูนย์กลางของมัน และผลักออกทุก 1 วินาที) เห็นความไม่เที่ยงหรือการเกิดดับๆ ของผัสสะ หรือการกระทบของความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้งที่อายตนะภายนอก (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และสมอง) กับอายตนะภายใน (ใจ) อย่างต่อเนื่อง ตราบกระทั่งผู้ปฏิบัติเจริญสติจนเต็มรอบเมื่อใดแล้ว สันตติหรือตัวปกติหรือตัวตึ้บๆๆ ก็จะเกิดขึ้นทั่วร่างกาย เมื่อใดที่บุคคลผู้นั้นปล่อยวางความไม่เที่ยงหรือการเกิดดับๆ นี้เสียได้ ก็จะเข้าถึงสภาวธรรมหรือความหลุดพ้นได้ในที่สุด

หลักของการเจริญสติสำหรับผู้ปฏิบัติทั่วไปมีอยู่ว่า ตามปกติคนทุกคนเมื่อยังมีร่างกายอยู่ และอายตนะหรืออวัยยะรับความรู้สึกยังไม่ผิดปกติ บกพร่องหรือพิการไป เช่น ตายังไม่บอด หูยังไม่หนวก ฯลฯ ก็จะสามารุรับความรู้สึกที่มากระทบกับอายตนะ ซึ่งเปรียบเสมือนประตูรับความรู้สึกได้ทั้งสิ้น คือ ตามรับรูป หูรับเสียง จมูกรับกลิ่น ลิ้นรับรส กายรับสัมผัส สมองรับความคิดและใจรับอารมณ์หรือความรู้สึกทั้งหมดเข้ามาปรุงแต่งเป็น ดี ชั่ว รัก ชัง ทุกข์ สุข ฯลฯ ได้เสมอดังนั้น ผู้ปฏิบัติจึงจะต้องเจริญสติให้เป็นปัจจุบันขณะเพื่อดับที่เหตุ คือ ดับการกระทบของความรู้สึกต่างๆ ที่เข้ามาทางอายตนะแต่ละทางให้เห็นการเกิดดับๆ ของการกระทบทุกๆ 1 วินาทีให้เท่ากับการเต้นของหัวใจหรือชีพจรของตนเอง และเท่ากับเวลาที่โลกดูดดึงสรรพสิ่งต่างๆ เข้าหามันและผลักออกทุก 1 วินาทีด้วย

ส่วนในผู้ที่ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ การเจริญสติมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ปฏิบัติกระตุ้นร่างกายที่บกพร่องไปให้ แข็งแรงขึ้นเพิ่มภูมิต้านทานตามธรรมชาติของร่างกายให้มากขึ้น และเพื่อให้เห็นการเกิดดับ ๆ ของขันธ์ 5 จากผัสสะที่มากระทบกับอายตนะหรืออวัยวะรับความรู้สึกของคนเรา และเมื่อปล่อยวางความไม่เที่ยงหรือการเกิดดับๆ ได้เมื่อใด ก็จะเข้าถึงสภาวธรรมหรือ ความหลุดพ้นได้ในที่สุด

ที่ มา : http://www.geocities.com/dynamicmeditation/201hp.htm http://www.geocities.com/dynamicmeditation/201hp.htm

เกี่ยวกับ allweare9999
รู้อะไรก็ไม่ทำให้พ้นทุกข์เท่ากับรู้จักตัวเอง

ใส่ความเห็น